คนเป็นพ่อเป็นแม่จะทำอย่างไรต่อ เมื่อพบว่าลูกเป็น LGBTQ+
เนื่องในเดือนที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride month ของหมอโอ๋ หรือผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลาย กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการจัดการบรรยายพิเศษ ‘อยู่อย่างสุข กับลูก LGBTQ+’ จัดโดย เพจเฟซบุ๊ก Net PAMA: เน็ตป๊าม้า
จุดเริ่มต้นของ LGBTQ+ เริ่มต้นที่ระบบสมอง หมอโอ๋ ได้เล่าไว้ว่า ปัจจุบันอัตลักษณ์ทางเพศนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ว่าเกิดจากอะไรที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้าคิดว่าเป็นการทำงาน ในปัจจัยทางชีวภาพ มีความเป็นไปได้ในเรื่อง ฮอร์โมนที่ได้รับ ยีน สมอง ปัจจัยการเลี้ยงดู เกรรมพันธุ์ ปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคมต่างๆ และอาจจะเกี่ยวคล่องกับ พัฒนามาตั้งแต่ในครรภ์ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพศของเรา
“มีงานวิจัยได้เขียนไว่ว่า พบ สมองบางส่วนของคนข้ามเพศ เช่น ผู้หญิงข้ามเพศนั้น มีหน้าตาคล้ายเพศหญิง อาจเป็นเรื่องของปัจจัยภายใน แต่หากได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ก็ทำให้มันเด่นชัดขึ้น”

ในต่างประเทศได้ทำการศึกษาวิจัย กับเด็กฝาแฝดเพศเดียวกัน ทั้งไข่ใบเดียวกัน
และไข่คนละใบ ด้วยสมมุติฐานว่าหากคนนึง ไม่มีความสุขกับเพศสภาพตัวเอง จะมีความสัมพันธ์กันกับอีกคนอย่างไร พบว่าในส่วนแฝดไข่ใบเดียวกัน หากคนนึงเป็น อีกคนจะมีโอกาสเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กแฝดไข่คนละใบ ที่ไม่ได้เชื่อมโยงในปัจจัยทางชีวภาพ หากคนนึงเป็น อีกคนจะมีโอกาสเป็น 0 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยข้างต้นสรุปว่าปัจจัยทางชีวภาพ น่าจะมีผลกับการที่เด็กคนนึงจะมีเพศเป็นอย่างไร ส่วนความเชื่อว่าการเลี้ยงลูกกำหนดเพศได้ มีงานวิจัย ในต่างประเทศก็ยืนยันแล้วว่าไม่จริง จากกรณีเด็กชายคนหนึ่งที่สูญเสียอวัยวะเพศชาย จากนั้นถูกเปลี่ยนการเลี้ยงดูให้เป็นเด็กผู้หญิง อีกทั้งมีการฉีดฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไป สุดท้ายก็ยังเติบโตมาเป็นผู้ชายอยู่ดี ซึ่งหมอโอ๋ชี้ว่า เสมือนว่าสมองได้โปรแกรมมาตั้งแต่แรกแล้ว
พ่อแม่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกผศ.พญ.จิราภรณ์ เล่าอีกว่า ความเป็นเพศยังมีความลื่นไหล หรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนมีความเป็นเพศเด่นชัดมาก อย่างที่เคยเจอคือ ตั้งแต่ 3 ขวบ ที่บอกชัดเจนเลยว่าเขาเป็นอีกเพศหนึ่ง ก่อนติดตามดูจน 9 ขวบ เขาก็ยังไม่เปลี่ยน
“ก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนจะมีความเข้าใจ หรือพ่อแม่เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงตัวตนมากน้อยแค่ไหน หลายครั้งที่เราไปคาดเดาตามกรอบเพศ เช่น เห็นลูกชายเล่นตุ๊กตา แล้วคิดว่าลูกเป็นตุ๊ด แต่จริงๆ เขาอาจเป็นผู้ชายชอบอะไรที่อ่อนโยนก็ได้ ฉะนั้นอย่าไปตีกรอบ แต่ควรคิดว่าไม่มีของเล่นอะไรที่เด็กแต่ละเพศไม่ควรเล่น อย่างเด็กผู้ชายเล่นขายของได้ อยากลองเอารองเท้าส้นสูงของแม่มาลองสวม หรือเด็กผู้หญิงเล่นรถบังคับ ด้วยความอยากรู้อยากลองก็ได้”
“ไม่สำคัญว่าเด็กจะเป็นอะไร ตอนอายุเท่าไหร่ แต่มันเป็นเรื่องการให้เวลาที่จะเห็นซึ่งเหล่านั้น และพูดออกมา” หมอโอ๋แนะนำให้พ่อแม่ใช้เวลาร่วมกับลูก เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา เพื่อสักวันหนึ่งลูกจะกล้าคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ด้วยตัวเขาเอง และเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่ว่าจะรู้สึกช็อกเท่าไหร่ พ่อแม่ก็ควรแสดงท่าทีให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเหมือนโอบกอด
“วินาทีนั้นอย่าเพิ่งคิดเผื่อว่าลูกเป็นอย่างนั้น ชีวิตจะแย่ไหม มันเกิดจากเรารึเปล่า แต่ให้อยู่กับเขาตรงนั้นก่อน พูดขอบคุณลูกที่กล้าบอก แสดงความดีใจที่พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับลูก และอาจแสดงความซื่อสัตย์อย่างตรงไปตรงมา เช่น คำพูดว่าพ่อยังงงๆ ไม่เข้าใจว่าตรงนี้เป็นยังไง หนูช่วยอธิบายให้ฟังว่ามันเป็นอย่างไร” หมอโอ๋ชี้ว่าแม้พ่อแม่อาจยังไม่ได้รู้สึกยอมรับ แต่ท่าทีของการรับฟัง จะเป็นโอกาสให้เกิดบทสนทนา
ลูกเป็น LGBTQ ‘ทุกข์-สุข’ อยู่ที่คิด
ผศ.พญ.จิราภรณ์ เล่าต่ออีกว่า จริงๆ พ่อแม่เลือกได้ว่ายังเชื่อแบบเดิมแล้วทำร้ายลูก หรือลองปรับความเชื่อเพื่อโอบอุ้มลูก ด้วยการตั้งคำถามกับความเชื่อของเรา แล้วจะพบว่ามันไม่จริง อย่างเชื่อว่าที่ลูกเป็นอย่างนี้เกิดจากการเลี้ยงดูของเขา เราเป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้เรื่อง ตรงนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงออกมาชัดเจน ว่าการเลี้ยงดูมีผล ฉะนั้นปลดล็อกซะ
“หากกังวลว่าลูกจะไม่ถูกยอมรับ พ่อแม่นี่แหล ะต้องลุกขึ้นมายอมรับลูกก่อน จะทำให้เขามีพลัง ส่วนความกังวลและความคาดหวังต่างๆ ลองถามตอบกับตัวเอง ว่าเป็นที่เราคิดเองหรือไม่ เพราะลูกไม่ว่าเป็นอย่างไร เขาก็มีความสุขได้กับธรรมชาติของเขา”
หมอโอ๋เชื่อว่าเทคนิคการรับฟังลูก ปรับความคิด ยังช่วยให้เกิดความสุขในแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต เช่น ลูกเรียนไม่เก่ง แต่พ่อแม่ก็ยอมรับในตัวเขา “นี่เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข หากทำถึงจุดนี้ได้ วันนั้นจะเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์” ผศ.พญ.จิราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณแหล่งที่มา : matichon.co.th
สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : impliweb.com